วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เราจะหา Training Need ขององค์กรเรา จากไหนได้บ้าง Organization Development
มี นศ.ปโทท่านหนึ่ง มาขอปรึกษาเรื่องงานวิจัย  โดยเธอต้องการศึกษาเกี่ยวกับความต้องการในการอบรมพัฒนาบุคลากรในองค์กร (Training Need) ว่าจะต้องทำอย่างไร และมีแนวคิดอย่างไร ดิฉันจึงให้แนวคิดคร่าวไปดังนี้ค่ะ
........................................

  หลายท่านคิดว่าการหาความต้องการในการพัฒนาคือการส่งแบบสำรวจไปยัง บุคลากรใน หน่วยงานของตนเพื่อสอบถามต้องการในการพัฒนา สิ่งที่ได้กลับคืนมาอาจพบว่าเป็นความต้องการพัฒนาที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ บุคลากรรับผิดชอบ หรือไม่สอดคล้องภารกิจของหน่วยงานหรืององค์กรเลย จึงมีคำถามที่ว่า ความต้องการในการพัฒนาควรมาจากแหล่งใดบ้าง
.....................................
แหล่งที่มาของความต้องการในการพัฒนา
  เพื่อให้การพัฒนาที่หน่วยงานหรือองค์กรวางแผนพัฒนาบุคลกรในองค์กร มีความคุ้มค่าคุ้มทุนและเป็นการเพิ่มคุณค่า (added value) เพื่อสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีค่าขององค์กร และเพื่อช่วยพลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย การหาความต้องการในการพัฒนาบุคลกร จึงควรพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้
1.  ค่านิยม/ความเชื่อ/ปรัชญาองค์กร(Core Value/Beliefs/Core Competencies)  ความจำเป็นในการพัฒนาในส่วนนี้คือการวิเคราะห์ว่าองค์กรคาดหวังอะไรจากบุคลากรโดย รวมเช่นต้องการให้เป็นบุคลากรในองค์กรมีจิตใจกล้าหาญการวางแผนพัฒนาต้องนำ เอาสิ่งที่องค์กรคาดหวังนี้มาแปลงสู่ความจำเป็นในการพัฒนาและฝึกอบรมทั้ง ระยะยาวและระยะสั้น
2.  กลยุทธ์ขององค์กร  (Corporate Strategy) กลยุทธ์ขององค์กรมักจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การวิเคราะห์หาความจำเป็นในการ พัฒนาจึงจำเป็นต้องนำเอากลยุทธ์ขององค์กรมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ กลยุทธ์ขององค์กรเช่น องค์กรต้องการเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า  องค์กรจะต้องวิเคราะห์เพื่อทำแผนพัฒนาบุคลากรรองรับเป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากร เช่นการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอาเซี่ยน การพัฒนาความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรมหรือข้ามเชื้อชาติเป็นต้น
3.  นโยบายหรือกฎระเบียบขององค์กร (Policies, Rules, Regulations) การวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมโดยพิจารณาดูว่าองค์กรมีนโยบายที่ เกี่ยวข้องกับบุคลากรในเรื่องใดเช่นนโยบายเรื่องความมีวินัย ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล  จริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการทำงานกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ในองค์กร  นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถใช้การฝึกอบรมมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรได้
4.  ข้อกำหนดกฎหมายหรือมาตรฐานสากล (Law/International Standards) เป็นการวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมจากข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยว ข้องกับองค์กรและข้อกำหนดของระบบมาตรฐานสากลต่างๆโดยเฉพาะในองค์กรแพทย์ ปัจจุบันมักถูกฟ้องร้องกันมากซึ่งในส่วนนี้ต้องประสานงานผู้รู้หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบเรื่องโดยตรงเพื่อค้นหาความต้องการในการพัฒนาบุคลากร
5.  ความต้องการของงาน (Job Requirements) นั่นคือในแต่ละตำแหน่งงานจะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบ (Job Description) ถ้าบุคลากรในตำแหน่งนั้น ๆไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นได้เนื่องจากขาดความรู้ความสามารถก็จะเป็นความ ความต้องการในการพัฒนาความจำเป็นในส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากเพราะคน ทำงานทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นสิ่งที่ตำแหน่งงานต้องการถ้าไม่อบรมจะทำ งานในตำแหน่งนั้นๆไม่ได้ซึ่งอาจใช้ OJT หรือ On the Job Training มาช่วยในการฝึกอบรม  หรือศึกษาด้วยตนเอง การสอนงานโดยหัวหน้า การเรียนในห้องเรียนหรือเรียนโดยการลงมือปฏิบัติจริงเป็นต้น
6.  การพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Development)  เป็นการวิเคราะห์ว่าคนในแต่ละตำแหน่งงานเขามีโอกาสจะเติบโตก้าวหน้าขึ้นไปใน ตำแหน่งใดบ้างและคนแต่ละตำแหน่งแต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและฝึกอบรม เรื่องอะไรบ้าง  ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่หลายองค์กรมักจะมองข้ามไปไม่ได้นำมาวิเคราะห์ตอนที่ทำ แผนการฝึกอบรม และยังเป็นความจำเป็นในการวางแผนบุคลากรขึ้นสู่ตำแหน่งบุคลากรจำเป็นต้องได้ รับการพัฒนาให้มีการเติบโตในสายงาน
7.  ปัญหาในการทำงานในปีที่ผ่านมา (Problems) เป็นการสำรวจ/สอบถาม/สัมภาษณ์ทุกหน่วยงานว่าในปีที่ผ่านมาเขามีปัญหาหรือข้อ ผิดพลาดในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรเรื่องอะไรบ้าง  นำเอาปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์ดูว่าปัญหาอะไรบ้างสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึก อบรม
8.  กิจกรรมในองค์กร(Activities) ทุกองค์กรมักจะมีกิจกรรมพัฒนาในด้านต่างๆที่นอกเหนือจากงานเช่น กิจกรรม 5 สกิจกรรมข้อเสนอแนะการจัดการความรู้  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีคณะทำงานรับผิดชอบอยู่แล้วเราควรจะรวบรวม ความจำเป็นในการฝึกอบรมจากทุกกิจกรรมเข้ามาอยู่ในแผนการฝึกอบร,
9.  แนวโน้มของวิทยาการสมัยใหม่(Modern Management Concepts &Tools พัฒนา และฝึกอบรมของทุกองค์กรจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า เพื่อวิเคราะห์ว่าองค์กรของ เราจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือ ไม่ เช่น ปีสามปีห้าปีข้างหน้ามีกระแสการจัดการหรือเครื่องมือการจัดการสมัย ใหม่อะไรจะเข้ามาในบ้านเราบ้าง องค์กรของเราจำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อรอง รับการติดตามและนำมาให้คนในองค์กรเรียนรู้หรือไม่

สรุป การวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม
จำเป็นต้องดำเนินการในทุกด้าน ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมที่แท้จริงขององค์กร และสามารถนำมาใช้ในการจัดทำแผนการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
.......................
คนึงนิจ อนุโรจน์

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทำอย่างไรให้ลูกเก่งดีมีสุข



          เก่ง ดี มีสุข  ตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (..2552-2559) หมายถึง คนไทยจะต้องเป็นคนเก่ง ดี มีสุข ดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีสุขภาพทั้งกายและใจที่สมบูรณ์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย สามารถประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข


ความเก่งของมนุษย์ในด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient--IQ)   เป็นคุณลักษณะที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่ข้อค้นพบทางทฤษฎีและงานวิจัยต่างๆ ในระยะหลังกลับพบว่าความเก่งทางด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถบรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้   เพราะการมีชีวิตที่สมบูรณ์นั้น  นอกจากจะมีความสามารถในการเรียนรู้องค์ความรู้แล้วมนุษย์ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ตนเอง รวมทั้งเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเทคโนโลยี รวมทั้งมนุษย์อื่นๆ โดยมีพื้นฐานของความดีงามเป็นเครื่องรองรับ  ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงความเก่งจึงต้องรวมทั้งความฉลาดทั้งในด้านสติปัญญา  และความฉลาดทางด้านอารมณ์  ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป

 

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเราจะสร้างคนเก่งดีมีสุขให้อยู่ในคนคนเดียวกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ Benjamin S. Bloom   ได้ทำการศึกษาความเป็นมาของอัจฉริยะบุคคลที่ได้รับการยอมรับในสังคมว่า เป็นหนึ่งในด้านต่างๆ จากคน 6 สาขา ได้แก่ นักแกะสลักประติมากรรม นักวิจัยทางคณิตศาสตร์ นักเปียโน นักวิจัยทางประสาทศึกษา นักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก และนักเทนนิสระดับแชมป์เปี้ยน อายุไม่เกิน 35 ปี โดยทำการรวบรวม ประวัติ พฤติกรรรม และข้อมูลต่างๆ   เช่น ผลการเรียน วิธีพัฒนาความเก่งในสาขาของตนเอง การสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ ร่วมกับสอบถาม พ่อแม่ครู โค้ช เพื่อนๆ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่า บิดา แม่ของอัจฉริยะบุคคลเหล่านั้นไม่เคยคาดหวังให้ลูกของตนต้องเป็นอัจฉริยะ แต่พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูก ๆ ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของลูก มีการสังเกตพฤติกรรมและความสามารถของลูกตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเมื่อค้นพบว่าลูกชอบ และมีความสามารถด้านนั้นๆ เป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ไทเกอร์ วูดส์ ชอบเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่ 3 ขวบ หรือโมสาร์ท ชอบเล่นเปียโนมาตั้งแต่ 3 ขวบ พ่อแม่ก็จะให้การสนับสนุนความเก่งทางด้านนั้น พ่อแม่บางรายจะมีการหาผู้เชี่ยวชาญ หรือมืออาชีพมาทำการสอนลูก ให้เกิดความชำนาญ และเป็นมืออาชีพในด้านนั้น ๆ มากขึ้น  


นอกจากนี้ยังพบว่า พ่อแม่ ส่วนใหญ่จะสอนลูกให้มีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ    ทำงานหนัก และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และสำคัญสิ่งสุดคือที่พ่อแม่ทุกคนให้กับลูก คือ ความรักความอบอุ่นและการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่า ความรักจะเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง เมื่อลูกรักจะทำอะไร พ่อแม่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้ลูกมีความสุข  


เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดก่อนการตั้งครรภ์ของแม่อัจฉริยบุคคล พบว่า ก่อนการตั้งครรภ์แม่ส่วนใหญ่ตั้งใจและมีการเตรียมพร้อมที่จะมีบุตร และขณะตั้งครรภ์จะเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์   และทำจิตใจให้มีความสุข  พ่อแม่ของอัจฉริยบุคคล ไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องเก่ง แต่เลี้ยงดูเขาด้วยความรักความเข้าใจ  สนับสนุนด้านเด่นของลูกอย่างเต็มที่ และมองลูกเป็นอัจฉริยะในสายตาของพ่อกับแม่ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับลูกของผู้อื่น

จากผลการศึกษาของ Benjamin S. Bloom  จึงพอสรุปได้ว่าเก่งดีมีสุข ต้องเริ่มจากความรักความอบอุ่นจากครอบครัวหล่อหลอมให้เด็กเกิดการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เป็นพื้นฐานก่อน เมื่อเด็กสุขกายสุขใจ จึงจะเกิดการพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญาได้โดยง่าย การพัฒนาให้เด็กเก่งดีและมีสุข เด็ก ๆ จะต้องได้รับการตอบสนองที่ดีในการพัฒนาปัญญาผ่านการเรียนรู้ชีวิตสามฐาน ได้แก่ ฐานกาย ฐานใจ และฐานความคิดตามลำดับ
การพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

 
  ภาพจาก


http://www.blogger.com/blogger.g?blogID=4442257640161359354#editor/target=post;postID=1075571075599124911


ฐานกาย วัย 0-7 ปี   วัยนี้เป็น "วัยเล่น" ชอบเล่นและทำซ้ำ ๆ จนเกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม (optimum learning)  เล่นอย่างดื่มด่ำจนทำให้ซึมซับอารมณ์  (sense) ความสุขต่างๆ (appreciation) ในวัยเด็กให้จดจำ  ซึ่งเป็นการบ่มเพาะการสร้างเจตจำนงค์ (Willing) ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่มีค่ามากในวัยนี้ ผ่านการสัมผัส (Sense of touch)  เช่น โอบกอด การสัมผัสที่มากพอ จะบ่มเพาะความกล้าให้มีการพัฒนาขึ้นในตัวเด็ก นอกจากนี้การเคลื่อนไหว (Sense of Movement) เช่นการวิ่งเล่นของเด็กจะส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้เรื่องเสรีภาพ อิสระเสรี จากการเคลื่อนไหว  ร่วมกับมีการพัฒนาความสมดุลของชีวิต (Sense of  balance) เกิดเรียนรู้การมีชีวิตที่สมดุล การไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งของชีวิต และสุดท้ายฐานกายนี้ยังมีการพัฒนาการเรียนรู้ชีวิต (Sense of life)  เด็กที่ได้เรียนรู้ ความรัก ความอบอุ่น จากสัมผัสของพ่อแม่ อ้อมกอดที่ให้กันและกันเด็กจะรู้สึกมั่นคงในชีวิต   การเลี้ยงดูเด็กให้ฐานกายมีการพัฒนาที่มั่นคงจำเป็นต้องให้เสรีภาพเด็กในการได้ใช้ชีวิตของเขามากพอ การได้เล่นอย่างอิสระ จะส่งผลให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุข จากฐานกายแข็งแรง และความสุขนี้จะอยู่เป็นภูมิคุ้มกันทำให้เด็กปรับตัวอยู่ในระบบหรือสังคมได้ โดยพ่อแม่จะต้องไม่ทำให้ความสุขที่อยู่ในตัวลูกหายไป

ฐานใจ วัย 8-14 ปี เป็นวัยของการพัฒนาความเข้าใจตัวเอง มีสติรู้เท่าทันตนเองและเท่าทันอารมณ์ของตนเอง   เรียนรู้การอยู่ร่วมกันและพร้อมที่จะเติบโตต่อไป   เด็กควรใช้ชีวิตกับสิ่งที่จริงคือจริง ไม่จริงคือไม่จริง ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ยับยั้งชั่งใจได้  ต้องเรียนรู้ที่จะอาศัยธรรมะจัดการกับอารมณ์ได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self esteem) เรียนรู้ที่จะรัก ชื่นชม และขอโทษผู้อื่นเป็น พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกแบบบังคับไม่สนใจอารมณ์ ความรู้สึกของลูก ลูกก็จะคิดไม่เป็นเพราะเค้ามีหน้าที่ทำตามอารมณ์และความรู้สึกของพ่อแม่  หรือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบปกป้องลูกก็จะตกร่องอารมณ์ ซึ่งจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้


ฐานความคิด จะเบ่งบานที่สุดในวัย 15-21 ปี ฐานความคิดนี้เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้าในการเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย โดยธรรมชาติจะสร้างให้เด็กแข็งแกร่ง ยอมรับในธรรมชาติของโลก ก่อนไปเผชิญกับโลกภายนอก เมื่อถึงเวลาเด็กพร้อม จากฐานกายและฐานใจที่มั่นคง เด็กจะใช้พลังขับตัวเอง และพาตัวเองไปสู่ความเก่งและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้นการดึงเอาพลังขับของเด็กมาใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม  เด็กจะมีพลังขับได้เพียงชั่วขณะ 

ด้วยเหตุนี้การดึงพลังฐานความคิดเวลาที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ในวัย 15-21 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เบ่งบานที่สุดนั่นเอง
จากแนวคิดดังกล่าวสรุปได้ว่า ฐานกายและฐานใจนั้นสำคัญที่สุด  ฐานกายและฐานใจที่มั่นคงฐานความคิดจะพัฒนาได้เอง ฐานกายคือความสุขและฐานใจคือความดี มีสติเท่าทันอารมณ์ของตัวเอง เด็กจะได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างเบิกบาน มีความสุข และรู้จักความสุขที่แท้จริงจริงของตัวเอง มีความสุขในวัยเด็กให้จดจำ  อยากเป็นคนดี เพราะการเป็นคนดีทำให้เค้าสามารถดำรงอยู่กับความสุขนั้นได้  สุดท้ายเด็กก็จะเกิดพลังขับให้เกิดความเก่ง แต่สังคมในปัจจุบันพัฒนาเด็กในทางตรงกันข้าม ทุกวันนี้พ่อแม่ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเก่งให้เกิดขึ้นในตัวเด็กก่อน เพราะคิดว่าเก่งแล้วจะดีแล้วจะมีความสุข เราจึงได้เห็นคนเก่งที่คิดชั่ว เพราะเค้าไม่เคยมีความสุขของชีวิตในวัยเด็กให้จดจำ ไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความรู้สึกที่ดีๆ ที่มีต่อกัน อยากได้ลูกเป็นคนดีมีความสุขจึ้งต้องเริ่มที่การพัฒนาฐานกาย ฐานใจให้มั่นคงก่อน ท้ายที่สุดท่านก็จะได้ลูกที่เก่งดีมีสุขตามมา   


เอกสารอ้างอิง
คนึงนิจ อนุโรจน์. (2556). เก่งดีมีสุข. เอกสารประกอบการสอนวิชา HRO 0003 : Thinking Process and Morality System. คณะวิทยาการจัดการหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต  สาขาวิชากลยุทธการบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์กร  สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์.
แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552-2559.  Retrieved May 20, 2013, from http://www.sobkroo.com/detail_room_main1.php?nid=2349
Brandt, R. S., (1985). On Talent Development: A Conversation with Benjamin Bloom. Education Leadership. September 1985, Page 26-28.
MyFamilyThaiPBS. (2011 ).ครอบครัวเดียวกัน บ่มพลังเพื่อลูก ตอน 1 5. Retrieved May 20, 2013, from http://www.youtube.com/watch?feature=player_detailpage&v=wY054-4as7I


.....................

ดร.คนึงนิจ อนุโรจน์
 https://www.facebook.com/pages/Human-Resource-Guide-By-DrKhanuengnich-Anuroj/179154502127716?ref=hl